วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พี่พบน้องครั้งที่สี่..ทบทวน 'จิตศึกษา' กับ ทำไม?

           พวกเราเป็นกลุ่มแรกที่พบน้อง คือ ครูเจษ ครูกลอย ครูป้อม เราเตรียมประชุมกันก่อนพบน้องเกือบสัปดาห์(AAR) ร่วมกันวางแผนกับคุณครูกลุ่ม 2 ทุกคน ว่าเรากลุ่มย่อยนี้จะจัดกิจกรรมอะไรกับน้องบ้าง กิจกรรมที่พูดคุยกันไว้ก่อนหน้านี้ ก็คือ..
-          ชวนน้องทบทวนกิจกรรมจิตศึกษา
-          คุยเกี่ยวกับคำถาม ทำไม? (ทำไมของโรงเรียน , ทำไม ให้น้องตั้งทำไมเอง 5 ข้อ ที่ยังไม่มีในทำไมของโรงเรียน)
            กลุ่มพวกเรานัดพบน้องในวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2557 ณ ห้องประชุมเล็ก
ทุกคนมาพร้อมเพรียงก่อนเวลานัดหมายกว่า 5 นาที วันนี้จากที่ผมสังเกตดูท่าทีของน้องหลายคนดูกระปี้กระเปร่าอยากมาเข้าร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ เห็นน้องๆ ตั้งใจอยากเข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยความยินดี มันทำให้ผมรู้สึกอิ่มเอมสุขใจอย่างบอกไม่ถูก กระแสความคิดซื่อๆ ไร้เพทุบายดังกล่าวสะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง จนต้องเกร็งเบ้าตากักกั้นหยาดน้ำ แล้วเตรียมทำกิจกรรมอันมีคุณค่ากับน้องวันนี้ เพื่อให้กิจกกรมออกมาดีที่สุด ด้วยบรรยากาศที่ทุกคนรื่นรมย์
            เมื่อได้เวลาตามนัดหมาย 16.30 น. ทุกคนนั่งวงกลมใหญ่ยิ้มไหว้ทักทายกัน ครูกลอยกับครูป้อมเริ่มด้วยกิจกรรมจิตศึกษากับน้องก่อน ส่วนคุณครูเจษติดภารกิจไปส่งครูใหญ่ที่สนามบินอำเภอสตึก ครูกลอยเตรียมอุปกรณ์ทำกิจกรรมจิตศึกษามาด้วยคือเม็ดกระดุม 1 กล่อง แล้วครูกลอยมอบหมายให้ครูอุ๋มเป็นดำเนินกิจกรรมจิตศึกษาจากอุปกรณ์ที่มีอยู่นี้
            ครูอุ๋มพาทุกคนทำกิจกรรม เม็ดกระดุม เชื่อมโยงกับตัวเราอย่างไร?
เริ่มกิจกรรมด้วยการหยิบเม็ดกระดุมจากกล้องออกหลากหลายสีดูสะดุดตา ครูอุ๋มถามทุกคนในวงว่า “ทุกคนเห็นอะไรจากที่ครูอุ๋มถืออยู่ตอนนี้ค่ะ?” ครูอุ๋มมองดูคนที่ยกมือก่อน แล้วเชิญทีละคนแสดงความคิดเห็น กิจกรรมจิตศึกษาจากเม็ดกระดุมหลากสี ครูอุ๋มส่งกล่องกระดุมให้ครูทุกคนหยิบเม็ดกระดุมวางตรงหน้าจนครบ ครูอุ๋มให้จึงโจทย์ทุกคนว่า ให้ทุกคนแปลงร่างเม็ดกระดุมตรงหน้าให้เป็นภาพขึ้นมา แล้วบอกครูอุ๋มด้วยว่าภาพนั้นเกี่ยวกับตัวเราอย่างไรบ้าง?” ทุกคนในวงได้เล่าภาพที่สร้างจากเม็ดกระดุมจากคนแรกจนถึงคนสุดท้าย ครูอุ๋มจะค่อยฟังด้วยความตั้งใจ ขอบคุณคนที่เล่าเสร็จทีละคน แล้วเชิญคนต่อไปเล่าจนครบ
พอกิจกรรมจิตศึกษาเสร็จ ครูกลอยให้ทุกคนได้แชร์เกี่ยวกับกิจกรรมเม็ดกระดุม “ถ้าเราจะนำอุปกรณ์นี้ไปใช้สอนเด็กๆ เราจะนำไปเป็นสื่อการสอนอย่างไรบ้าง?” แต่ละคนได้เสนอความคิดเห็นว่าจะนำสื่อนี้ไปใช้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิเช่น จิตศึกษา(นิทาน , งานศิลปะ), ภาษาไทย, อังกฤษ, คณิต(การนับ, แบบรูป) รวมทั้งยังได้ชวนทุกคนตั้งคำถามจากเม็ดกระดุม
จากนั้นพวกเราพาน้องครูใหม่ทบทวนการบ้าน 2 กิจกรรม คือ “จิตศึกษา” และ “ทำไม?” (ทำไมของโรงเรียน , ทำไม ให้น้องตั้งทำไมเอง 5 ข้อ ที่ยังไม่มีในทำไมของโรงเรียน)
ให้น้องๆ แต่ละคนแชร์เป้าหมายของกิจกรรมจิตศึกษา ที่น้องๆ ตอบมาโดยภาพรวม
-          เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียน
-          เพื่อให้นักเรียนเข้าใจสรรพสิ่ง
-          เพื่อพัฒนาความฉลาดทางด้านอารมณ์EQ ด้านจิตวิญญาณSQ
จากนั้น..น้องๆ แชร์ถึงกิจกรรมที่ทำจิตศึกษามาแล้วเกิดผลอย่างไร ครูนิ่ม ป.4 เล่าถึงพี่บูมว่ากิจกรรมจิตศึกษาทำให้พี่บูมเข้าชั้นเรียน กล้าพูดกับครูมากขึ้น และทำให้เขาผ่อนคลายเตรียมพร้อมที่จะเรียนมากขึ้น ครูอุ๋ม ป.1 แชร์กิจกรรมจิตศึกษาทำให้พี่เฆษเปลี่ยนแปลงทางด้านการรับรู้อารมณ์ และการเตรียมความพร้อมในการเรียนในทุกๆ วัน ทำให้เขาเข้าห้องเรียนอย่างมีความสุขตลอดมาทุกๆ วัน
ครูกลอยชวนน้องๆ คุยเรื่องสิ่งที่ควรลดและควรสร้าง ตามแนวทางของโรงเรียนฯ ในการจัดการเรียนรู้ทุกกิจกรรม โดยภาพรวมน้องๆ แชร์ความเข้าใจและพี่ๆ ช่วยเพิ่มเติมกันทั้ง 2 ประเด็น ดังนี้
สิ่งที่ครูควรลด (การเปรียบเทียบ, คำพูดด้านลบหยุด อย่า ห้าม, สร้างความกลัว ,ใช้ความรุนแรง ,ยัดเยียดความรู้)
สิ่งที่ครูควรสร้าง (ให้ความรักกับเด็กๆ,  บรรยากาศการเรียนรู้, คำพูดด้านบวก)
พวกเราให้น้องเล่าถ่ายทอดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนทัศน์จิตศึกษา(จิตวิทยาเชิงบวก วิถี/ชุมชม กิจกรรมจิตศึกษา)ที่แต่ละคนเข้าใจ หลังจากที่น้องๆได้อ่านเอกสารที่ให้เป็นการบ้านคร่าวก่อน น้องทุกคนได้ถ่ายทอดความเข้าใจของตนเอง และทุกคนมีส่วนร่วม เพิ่มเติมความเข้าใจร่วมกัน และชวนน้องๆ คุยเกี่ยวกับปัญญาภายในและปัญญาภายนอก ครูกลอยสอบถามน้องๆ เกี่ยวกับวิถี/ชุมชม แล้วให้แต่ละคนแชร์ความเข้าใจของตนเองสู่ผู้อื่น ก่อนที่ทุกคนช่วยกันมาขมวดความเข้าใจ(ครูกลอย ครูเจษ ครูป้อม ครูน้ำผึ้ง และครูสังข์)  เรายกตัวอย่างผ่านรูปแบบตารางเรียนที่แบ่งออกเป็นช่วงของ : ปัญญาภายใน (EQ, SQ), ปัญญาภายนอก (PQ, IQ)
ปัญญาภายนอก VS ปัญญาภายใน
            ครูวิเชียรมองว่า กะลาใบใหญ่ที่ครอบระบบการศึกษาไทยอยู่คือการยึดติดใน ความรู้ ซึ่งเป็นแค่เพียงส่วนเปลือกของการศึกษา แท้ที่จริงแล้วคุณค่าของการศึกษาอยู่ที่การก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางปัญญา อันประกอบด้วยปัญญาภายนอก ซึ่งหมายถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่อยู่รอบตัว และอีกส่วนหนึ่งคือปัญญาภายใน ซึ่งหมายถึงความเข้าใจตนเองและธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นเป้าหมายที่ชัดเจนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คำนึงถึงการก่อเกิดปัญญาทั้งสองส่วน
นับตั้งแต่การเปิดสอนปีแรก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ทดลองใช้เครื่องมือสำหรับบ่มเพาะปัญญาภายนอกหลายหลายวิถีทาง เช่น การบูรณาการโดยใช้ Story Line ซึ่งช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุกสานเพลิดเพลิน แต่กลับไม่ได้นำพาไปสู่แก่นแท้ของความรู้ได้จริง ต่อมาก็บูรณาการโดยProject Based Learning ซึ่งเอื้อให้เด็กได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง แต่ยังไม่ได้ให้อิสระเด็กเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนรู้ จนในที่สุดก็พบว่าแนวทางการสอนที่เหมาะสมคือการบูรณาการโดย Problem-Based Learning ซึ่งเติมเต็มเรื่องการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน ไปพร้อมกับการลงมือปฏิบัติจนเกิดทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตจริงๆ
การนำปัญหามาเป็นสิ่งกระตุ้นในการเรียนรู้ เป็นการสร้างความเสียสมดุลในตัวเด็ก แล้วเด็กจะหาทางที่จะรักษาความสมดุลนั้น ด้วยกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เอาทักษะและความรู้มารวมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา พอเขาได้แก้ปัญหาบ่อยๆ ก็จะเพิ่มทักษะ เพิ่มความเข้าใจ ทำให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่แข็งแกร่ง
การเรียนรู้อย่างอิสระเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้เลือกในสิ่งที่ตนสนใจ และคิดว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตนเอง รวมทั้งได้การออกแบบการเรียนรู้ว่าตนอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไร โดยมีครูเป็นผู้มีบทบาทช่วยสนับสนุนให้เด็กได้แก้ปัญหาเหล่านั้น และวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนปัญญาภายในซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการพร่ำสอนของครู ครูวิเชียรได้นำกระบวนการ จิตศึกษา มาใช้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะ หลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ การเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมซึ่งเป็นจิตวิทยาเชิงบวก การจัดกิจกรรมตามแนวคิดนี้จะมุ่งเน้นให้เด็กมีความรักที่เผื่อแผ่ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งอื่น และมีสติรู้สึกตัวได้เร็ว สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญงอกงามภายใน จะต้องมีลักษณะเป็นองค์กรแบบเปิด ที่ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน เคารพกัน และมีความเป็นกัลยาณมิตร
ครูวิเชียรกล่าวถึงความสำคัญของปัญญาภายในว่า การจะอยู่บนโลกนี้ได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมข้างนอก แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ข้างใน หากเราสามารถสร้างปัญญาภายในให้เข้มแข็งพอ เด็กจะมีวุฒิภาวะและภูมิคุ้มกันชีวิต ไม่ว่าจะมีแรงกระแทกจากภายนอกแค่ไหนเขาก็จะผ่านมันไปได้
บางส่วนจาก..บทสัมภาษณ์ครูใหญ่วิเชียร ไชยบังลงในหนังสือ
รวมมิตรคิดเรื่องการเรียนรู้ประสบการณ์ภาคปฏิบัติของมวลมิตรยุคอนาล็อคและคนรุ่นดิจิทัล
โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้  Thailand Knowledge Park (TK park)

น้องๆ ทุกช่วงชั้นได้ทบทวนวิถี/สร้างชุมชนการเรียนรู้ ครูเจษให้ตัวแทนน้องแต่ละช่วงชั้นเล่าวิถีให้ทุกคนรอบวงรับฟังร่วมกัน วิถีมัธยม(ครูจุล), วิถีประถม(ครูหนัน, ครูอุ๋ม), วิถีอนุบาล(ครูแอมป์) ส่วนใหญ่น้องๆ เข้าใจวิถีภาพร่วม ครูป้อมเพิ่มเติมวิถีของพี่มัธยม ตอนเช้านักเรียนทุกระดับชั้นจะดูแลบริเวณสถานที่โดยรอบมัธยมเองเช้า-เย็น ในส่วนของเวลาเรียนแต่ละคาบจะน้อยกว่าน้องประถมคาบละ 10 นาที ช่วงเช้าเรียน 4 คาบ ต่างจากประถมเรียน 3 คาบ ตอนเที่ยงพี่มัธยมจะแบ่งเวรเพื่อจะไปรับอาหารที่โรงอาหารมาบริการกันเอง และจะมีพิธีชาทุกๆ สัปดาห์

กิจกรรมสุดท้าย..
น้องๆ ส่งการบ้านตั้งคำถาม ทำไม? เราให้น้องๆ แต่ละช่วงชั้นคุยกัน แล้วเลือกมาเพียงช่วงชั้นละ 1 คำถาม นำมาแชร์กัน ถามเสร็จให้น้องๆ ได้ลองตอบคำถาม แล้วพี่ๆ ช่วยขมวดคำตอบตอนท้ายให้ทุกข้อ
อนุบาล “ทำไมโรงเรียนนอกกะลาจึงเลือกที่จะมาตั้งอยู่ตรงนี้?”
            ครูดอกไม้ ครูบาส ครูจุล แชร์ความคิดเห็นว่า “อาจจะอยู่ในชนบท ไม่อยากตั้งใกล้ตัวเมือง ที่บุรีรัมย์ตอนนั้นยากจน และที อ.ลำปลายมาศ ขาดสารไอโอดีน บรรยากาศร่มรื่น”
            ครูน้ำผึ้ง ครูเจษ ครูป้อม ช่วยขมวด.. “เมื่อประมาณ 13 ปีก่อนนั้น คุณเจมส์มีแนวคิดอยากสร้างโรงเรียนตัวอย่างขึ้น และได้เลือกจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะตอนนั้นค่าเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือนน้อยสุดในภาคอีสาน และก็เลือกอำเภอลำปลายมาศ ตำบลโคกกลาง เพราะเป็นอำเภอที่ประชากรขาดสารไอโอดีน (ส่งผลเกี่ยวกับสมองขาดสารบางตัว ส่งผลต่อการเรียนรู้) และที่สำคัญคุณเจมส์ต้องการสร้างโรงเรียนฯ ตัวอย่างที่อยู่ชนบท ทุกคนมีสิทธิ์เรียน เพราะจับฉลากเข้าเรียนทุกคน ต้องการคละประชากร และค่าใช้จ่ายในการเรียนของนักเรียนก็น้อยกว่ารัฐบาล..”
ช่วงชั้น1 “ทำไมที่โรงเรียนจึงไม่มีห้องพยาบาล?”
ช่วงชั้น2 “ทำไมพี่ ม.3 ยืนตรงหลังน้อง ป.6 เข้าแถวตอนเช้า?”
มัธยม “ทำไมต้องติดชิ้นงานนักเรียนทั้งในห้องเรียน และบริเวณโดยทั่วของโรงเรียน?”
            ในส่วนคำถามของ ช.1-2 กับคำถามของมัธยม ทุกคนในวงก็ช่วยกันตอบ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พี่ๆ ก็ได้เรียนรู้น้องด้วยการตั้งคำถาม และเรียนรู้การตอบของแต่ละคน น้องๆ ก็ได้ความรู้เพิ่มจากที่พี่ๆ ช่วยกันขมวดคำตอบให้ชัดเจนมากขึ้น

            น้องทุกคนส่งสมุดบันทึกเล่มเล็กที่ทำการบ้านเขียนคำถาม ทำไม? มาคนละ 5 ข้อ
การสร้าง “ปัญญา” เป็นงานประณีตมากกว่าการสร้าง “ความรู้” ครูผู้มีวุฒิภาวะจะมองเห็นเป้าหมายนี้และเพียนพยายามส่งเด็กไปให้ถึง

ขอบคุณข้อมูลจากคุณครูเจษมากครับ.
เพิ่มเติม 'ปัญญา'....บางส่วนจากหนังสื่อ 'วุฒิภาวะของความเป็นครู'
               ความเข้าใจตัวเอง  ความเข้าใจต่อชีวิต  หรือ  ปัญญาภายใน  ที่เราทั้งหมดพยายามโหยหาทั้งเป็นเครื่องค้ำชูชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งขาดแคลนเหลือเกินในภาวะปัจจุบัน  ครูผู้มีวุฒิภาวะจะให้การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็กๆ  ตั้งแต่ต้นซึ่งอาจจะช่วยให้เด็กๆ  ได้พบคำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เร็วขึ้น  แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ  ในหลักสูตรแกนของแต่ละประเทศที่มี  8-9  วิชานั้นมุ่งสร้าง  แต่ปัญญาภายนอกหรือความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ  เท่านั้น 

         ปัญญาภายใน  หมายรวมถึง  ความฉลาดทางจิตวิญญาณ  (SQ)  และ  ความฉลาดทางอารมณ์  (EQ)  ซึ่งได้แก่ 
การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง  (รู้ตัว)  การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกต่อผู้อื่น
การเห็นคุณค่าในตัวเอง  คนอื่น  และสิ่งต่างๆ  เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย 
การอยู่ด้วยกันอย่างภราดรภาพ  ยอมรับในความแตกต่าง  เคารพและให้เกียรติกัน 
การมีวินัย  มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวมอยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย
การมีสติอยู่เสมอ  รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด  หรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่มีความสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ 
การมีสัมมาสมาธิ  เพื่อกำกับความเพียรให้การเรียนรู้หรือการทำภาระงานให้ลุล่วง  มีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ  นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่ 
การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล

              ปัญญาภายนอก  เป็นการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ  เพื่อให้เข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  ซึ่งประกอบด้วยความรู้มากมายหลายแขนงที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตหรือการประกอบ  อาชีพ  ซึ่งมักมองในมุมของความรู้ว่ามีมากน้อยเพียงใด  แต่การมองเฉพาะด้านความรู้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ  ความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้  ขยายขอบเขตได้  ความฉลาดทางด้านนี้ต้องไปไกลกว่าความรู้คือ  ไปถึงความเข้าใจ  เพราะเมื่อไปถึงความเข้าใจแล้วเราก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างที่  โยงใยกันอยู่  โดยที่เมื่อกระทำกับสิ่งหนึ่งก็สะเทือนถึงอีกสิ่งหนึ่ง  แล้วตอนนั้นเราจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ  เหล่านั้น  ในที่สุดก็จะเกิดความยินดีและความพอใจกับความเป็นไปซึ่งจะทำให้เป็นผู้ที่มี  ความสุขได้ง่าย 

                นอกจากความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์แล้ว  ปัญญาภายนอก  ยังรวมถึงการได้เครื่องมือทั้งที่เป็นทักษะชีวิตและทักษะสำหรับอนาคต  เช่น  ทักษะการเรียนรู้  ทักษะการคิดหลายๆ  ระดับ  ทักษะทาง  ICT  ทักษะการจัดการ  ทักษะการสื่อสาร  และ  ทักษะการเป็นผู้ผลิตปัจจัยในการดำรงชีวิต  เป็นต้น 

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พี่พบน้องครั้งที่สาม..ทำไม? จิตศึกษา

            บรรยากาศแวดล้อมในช่วงฤดูหนาวทั่วโรงเรียนนอกกะลาในวันหยุด เสียงนกร้องเจื้อยแจ้วเคล้ากับเสียงอันผ่อนคลายในยามโพล้เพล้ ได้เวลาตามนัดหมาย 13.00 น. คุณครูสังข์เริ่มต้นกิจกรรม Body scan ให้น้องๆ ได้พักผ่อนใจ-กาย หลังจากรับประทานอาหารเที่ยง ตอนแรกที่พูดคุยไว้เราจะเริ่มด้วยจิตศึกษาก่อน แต่คุณครูสังข์ขอทำกิจกรรเพื่อน้องสั้นๆ เปิดเพลงเสียงน้ำไหล มีเสียงลมหวีดหวิวดังขึ้นเป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำเนื่องๆ ทุกคนได้ผ่อนคลายร่างกายอย่างมีสติ ก่อนที่ครูสังข์จะเล่าเรื่อง แม่น้ำกับก้อนเมฆ ไว้ดังนี้ครับ
       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแม่น้ำอันแสนงดงามไหลล่องผ่านป่าเขาและทุ่งหญ้า เธอกำเนิดมาจากสายน้ำเล็กๆที่แสนเบิกบาน ยามที่เธอไหลลงจากยอดเขา สายน้ำนั้นเต้นรำและร้องเพลงไปกับเธอ เมื่อไหลลงมาสู่พื้นราบ การเดินทางของเธอก็ค่อยๆ ช้าลง และเริ่มคิดคำนึงถึงมหาสมุทรอันแสนกว้างใหญ่ เมื่อกาลเวลาผ่านไป เธอเติบโตขึ้นเป็นแม่น้ำที่สวยงาม ไหลลัดเลาะไปตามภูเขาและทุ่งหญ้าอย่างสง่างาม
       วันหนึ่งแม่น้ำสังเกตเห็นเงาสะท้อนของก้อนเมฆในตัวเธอ ก้อนเมฆเหล่านั้นมีรูปทรงและสีสันอันหลากหลาย เธอไล่ตามก้อนเมฆเหล่านั้นไป หวังจะได้ครอบครองก้อนเมฆสักก้อนหนึ่ง หากแต่ความเป็นจริงก้อนเมฆนั้นลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้าอันแสนไกล และเปลี่ยนรูปร่างไปมาอยู่ตลอดเวลา บางทีก็เป็นรูปเสื้อโค้ต บางทีก็เป็นรูปม้า และด้วยความเปลี่ยนแปลงนั้นเองที่ทำให้แม่น้ำเป็นทุกข์อย่างยิ่ง กลับกลายเป็นว่าความสุขความเบิกบานของเธอคือ การวิ่งไล่ตามก้อนเมฆก้อนแล้วก้อนเล่า ในขณะเดียวกันนั้นความสิ้นหวัง ความโกรธและความเกลียดชังก็ค่อยๆ กลายเป็นชีวิตของเธอ
แล้ววันหนึ่งเกิดมีลมแรงพัดพาเอาก้อนเมฆทั้งหมดหายไปจากฟากฟ้า ท้องฟ้าพลันว่างเปล่า เมื่อไม่มีก้อนเมฆให้แม่น้ำวิ่งไล่ตาม ชีวิตก็ช่างดูไร้ค่าเกินกว่าที่จะเธออยู่ต่อไป เธออยากตายและรำพึงกับตัวเองว่า "ฉันจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ในเมื่อไม่มีก้อนเมฆเหล่านั้น" จึงเกิดคำถามกับตนเองว่าแม่น้ำจะคร่าชีวิตตัวเองได้อย่างไร
       ในคืนนั้นแม่น้ำได้มีโอกาสกลับมาใคร่ครวญอยู่กับตัวเองเป็นครั้งแรก เธอพบว่าที่ผ่านมาเธอมัวแต่วิ่งไล่ตามสิ่งที่อยู่ภายนอก โดยที่เธอไม่เคยย้อนกลับมามองดูตัวเองเลย และคืนนี้เป็นครั้งแรกที่เธอได้ยินเสียงร้องไห้ของตัวเอง เสียงน้ำที่กระทบกับสายน้ำใหญ่ เธอได้ค้นพบบางสิ่งที่สำคัญเมื่อเธอสามารถฟังเสียงภายในตัวเอง เธอพบว่าสิ่งที่เธอเฝ้าตามหามาตลอดนั้นอยู่ในตัวเธอเอง ก้อนเมฆและน้ำนั้นเป็นดั่งกันและกัน ก้อนเมฆกำเนิดมาจากน้ำ และสุดท้ายก้อนเมฆก็กลายเป็นน้ำ ตัวเธอเองก็คือน้ำเช่นกัน
       เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อพระอาทิตย์ส่องฉายไปทั่วท้องฟ้า แม่น้ำได้พบบางสิ่งที่สวยงามเป็นครั้งแรก ซึ่งเธอไม่เคยสังเกตเห็นท้องฟ้าสีครามมาก่อน ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอมัวแต่สนใจก้อนเมฆ โดยไม่เคยมองท้องฟ้าที่เป็นบ้านของก้อนเมฆเลย ก้อนเมฆนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ท้องฟ้านี่สิมั่นคง เธอตระหนักได้ว่าท้องฟ้าอันกว้างใหญ่นั้นอยู่ในใจเธอมาตั้งแต่แรกเริ่ม ปัญญาหรือความรู้แจ้งอันยิ่งใหญ่นี้นำความสุขสงบมาสู่แม่น้ำ เมื่อใดก็ตามที่เธอมองท้องฟ้าอันกว้างใหญ่งดงาม เธอจะรู้ว่าความสงบศานติและความมั่นคงนั้นอยู่กับเธอเสมอและในบ่ายวันนั้นก้อนเมฆก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แม่น้ำไม่ได้อยากครอบครองก้อนเมฆอีกแล้ว เธอกลับมองเห็นเพียงความสวยงามของก้อนเมฆแต่ละก้อน และยินดีกับการมีอยู่ของก้อนเมฆ เมื่อก้อนเมฆมาเยี่ยมเยือนท้องฟ้า เธอต้อนรับด้วยความรักความเมตตา และเมื่อก้อนเมฆจากไป เธอก็โบกมือลาด้วยความสุขและความรักความเมตตาเช่นเดียวกัน เพราะแม่น้ำรู้ว่าก้อนเมฆเหล่านั้นก็คือเธอ เธอไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างตัวเธอกับก้อนเมฆ ความสงบและความกลมกลืนกันนั้นมีอยู่ระหว่างเธอและก้อนเมฆ
       เย็นวันนั้น เมื่อแม่น้ำเปิดใจกว้างอย่างเต็มเปี่ยมให้กับท้องฟ้ายามเย็น สิ่งสวยงามก็เกิดขึ้น เธอได้พบภาพสะท้อนของพระจันทร์เต็มดวงที่สวยงาม กลมโตดั่งเพชรที่อาบฉายลงในตัวเธอ เธอไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเธอจะสามารถสะท้อนภาพที่งดงามเช่นนั้นได้ ดังเช่นบทกวีของจีนที่กล่าวไว้ว่า "ดวงจันทร์ที่แสนสวยงามสดชื่น เดินทางท่องเที่ยวไปในท้องฟ้ากว้างไกล เมื่อจิตใจอันกว้างใหญ่ดั่งแม่น้ำของสรรพสิ่งเป็นอิสระ เมื่อนั้นภาพสะท้อนของดวงจันทร์อันสวยงามจะฉาดฉายในตัวเรา" จิตใจของแม่น้ำในขณะนั้นเป็นเช่นนี้เอง เธอได้สะท้อนภาพของพระจันทร์ที่สวยงามในใจเธอ ในขณะนั้นเสมือนว่า แม่น้ำ ก้อนเมฆ และพระจันทร์ต่างส่งกำลังใจ ความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีต่อกัน กำลังจับมือกันเดินทางอย่างช้าๆ ไปสู่มหาสมุทรอย่างมีความสุข



            เรื่องเล่าจบลง.. ก่อนลุกขึ้นนั่งครูสังข์ให้ทุกคนฟังเสียงลมหายใจของตัวเอง กลับมาอยู่กับตัวเราเอง ให้ทุกคนนับถอยหลังจาก 1 ถึง 5 บอกตัวเองว่าเราจะเป็นคนที่ยอดเยี่ยม เราจะเป็นคนที่มีความสุข...จากนั้นครูสังข์เชิญทุกคนลุกขึ้นนั่งด้วยความผ่อยคลาย เวลา 13.25 น.
            พวกเราพาน้องยืดเส้นยืดสาย เพราะเห็นว่าหลายคนยังรู้สึกงัวเงียโงนเงนกันอยู่ เพื่อให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายของทุกคนได้ผ่อนคลายจากอาการงัวเงียอ่อนล้า
            ครูเส็งต่อด้วยกิจกรรมจิตศึกษา เริ่มจากให้ทุกคนหลับตานั่งตัวตรงมีสมาธิผ่อนคลายอวัยวะทุกส่วนกำหนดลมหายใจเข้า-ออกเป็นจังหวะสอดรับกับคำพูดที่ตื่นเต้นพูดตะกุกตะกักอยู่บ้างในช่วงแรก และครูเส็งต่อด้วยกิจกรรม Brain Gym สั้นๆ ก่อนที่ครูเส็งจะแจกช่องภาพ/บัตรคำให้แต่ละคนวางไว้ข้างหน้านั้น ชื่นชมคนที่ยอดเยี่ยม / คนที่ไหว้เพื่อนด้วยความนอบน้อมในขณะที่รับสิ่งของจากเพื่อนๆ รอบวง เป็นคำพูดEmpower ของผู้ที่ค่อย
อำนวยกิจกรรมจะพูดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกคนได้รื่นรมย์ในบรรยายกาศในวงจิตศึกษา พอแจกช่องภาพ/บัตรคำวางไว้ตรงหน้าครบทุกคนแล้ว ครูเส็งก็เชิญทุกคนให้เปิดช่องจดหมายดูภาพ/บัตรคำ แล้วให้โจทย์กับทุกคนว่า “เราคิดว่าภาพหรือบัตรคำที่เห็นนั้น มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวเราอย่างไร?” แล้วให้แต่ละคนได้บอกเล่าถึงภาพดังกล่าวให้ทุกคนในวงรับรู้ ภาพหรือบัตรคำที่เตรียมมานั้น เช่น ภาพหมอน ภาพโทรศัพท์ ภาพพระอาทิตย์กำลังตกติดท้องฟ้าเหลืองอร่าม – บัตรคำ แม่, โรงเรียน, เป็นต้น ..พอทุกคนบอกความหมายภาพ/บัตรคำครบครูเส็งให้ทุกคนในวงเล่าเรื่องเชื่อมแต่ละภาพ/บัตรคำเป็นเรื่องราว(แต่งนิทาน)เดียวกัน เริ่มจากผมได้ภาพ โทรศัพท์บ้าน...เล่ารอบวงไปจนถึง...ครูเส็งที่ได้บัตรคำคำว่า แม่
            พวกเราถอดความเข้าใจจากน้องๆ ว่าจากทั้ง 2 กิจกรรมที่ครูสังข์กับครูเส็งทำ “น้องๆ จะนำกิจกรรมไปปรับใช้กับเราอย่างไร? อะไรบ้างเป็นสิ่งใหม่ที่เราได้เรียนรู้จากทั้ง 2 กิจกรรมนี้?” น้องทุกคนได้บอกถึงสิ่งจะนำไปปรับใช้ในชั้นเรียน เช่น การใช้น้ำเสียงโทนเสียงที่น่าฟังไฟเราะในการเล่าเรื่อง การขอบคุณ บรรยากาศในการทำกิจกรรม การวางแผนล้วงหน้า ฯลฯ   
            ทุกคนร่วมกันสะท้อนกิจกรรมสังเกตการณ์การสอนของน้องๆ ครูใหม่ ได้แก่ ครูดอกไม้  (กิจกรรมจิตศึกษา ป.5) ครูหนัน (ภาษาไทย ป.3 /เขียนตามคำบอก) ครูเหมี่ยว (ภาษาไทย ป.2/ คำ รร เช่น บรรจง บันทึก)และครูแต (ภาษาอังกฤษ ป.4) ส่วนน้องคนที่เหลือจะพูดคุยสะท้อนกันในการประชุมคราวหน้า พวกเราครูกลุ่ม 2 คนที่ไปสังเกตน้องก็ได้พูดคุยสะท้อนถึงน้อง สิ่งที่น้องทำได้ดีแล้ว เป็นการพูดเสริมแรงด้านบวกให้น้องๆ ที่มีความตั้งใจความพยายามเตรียมกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เรียนรู้วันนั้น แววตาของผู้พูดเปล่งประกายด้วยความปีติซึ่งสามารถบ่งบอกถึงไมตรีจิตที่พี่ส่งถึงน้อง สิ่งที่ควรนำไปพัฒนา คนที่ไปสังเกตสะท้อนในสิ่งที่แต่ละคนเห็นว่าสิ่งที่ควรจะนำไปพัฒนาเพิ่มในกิจกรรมหรือสิ่งที่พี่เห็นว่าน้องน่าจะนำไปปรับเล็กๆน้อยๆ ในแต่ละช่วงของกิจกรรม โดยภาพรวมพวกเราชื่นชมความพยายามของน้องครูใหม่ที่พวกเราได้ไปร่วมสังเกตการสอนมาครับ
            กิจกรรมต่อมา..พวกเราให้น้องทุกคนได้เขียนออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครื่องมือคิดแผนภาพของเวนน์ออยเลอร์ (Venn-Euler Diagram) เพื่อให้น้องเขียนถึงหน้างานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ สะท้อนความเข้าใจของครูใหม่แต่ละคน
            พวกเราแจกกระดาษA4 ให้น้อง จากนั้นให้ทุกคนวาดวงกลม 3 วง แต่ละวงเชื่อมกันดังตัวอย่างที่เตรียมไว้ให้น้องดู (คล้ายสัญลักษณ์ช่อง 7 สี) พื้นที่แต่ละวงจะมีจุดเชื่อมกันอยู่กับอีกกิจกรรมที่อยู่ติดกัน แล้ว 3 วงก็จะมีจุดเชื่อมกันตรงกลาง ในส่วนพื้นที่วางของแต่ละวงจะให้น้อ
งเขียน จิตศึกษา PBL และวิชาสอน (ไทย คณิต อังกฤษ) 
หมายถึง ความเชื่อมโยงของทุกๆกิจกรรม น้องๆ เขียนถึงกิจกรรม (เดิมหรือคิดขึ้นใหม่) และการเตรียมความพร้อมก่อนกิจกรรม กิจกรรมมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร? วางแผนการทำกิจกรรมอย่างไร? ..แล้วน้องแต่ละคนนำเสนอชิ้นงาน(Show and Share) กิจกรรมที่ตนเองสร้างขึ้นมา

ถ่ายทอดให้ทุกคนในวงรับฟังร่วมกัน หลายคนยกตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่เป็นแบบPBL (การทดลอง แสดงละคร การตั้งคำถาม) จิตศึกษาที่สร้างสรรค์ นวัตกรรมการสอนแต่ละวิชา ฯลฯ น้องทุกคนมีความปรารถนาดีที่จะถ่ายทอดสิ่งที่คิดไว้ต่อผู้ร่วมวงทุกคน 15.20 น.
            ครูแดงต่อด้วยการเล่านิทาน 1 เรื่อง กูจี กูจี หลังจากเล่านิทานจบลงครูแดงได้พูดคุยแนะนำเทคนิคการ
เล่า การใช้คำถามเชื่อมโยงจากนิทาน เช่น เห็นอะไร? รู้สึกอย่างไร? มีใครบ้าง? ทำอะไร? ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ถ้าเป็นนักเรียนจะทำอย่างไร? ฯลฯ การเล่านิทานสามารถเล่าได้หลากหลาย เช่น จากหนังสือนิทาน / เล่าไปวาดไป/ เล่าไปพับไป/ เล่าไปตัดไป /เล่าไปฉีกไป ฯลฯ ครูต๊อกมีตัวอย่างการเล่านิทานของ อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์ ที่ถ่ายทำไว้แชร์ไว้ในไฟล์ครูจะส่งให้กับน้องๆ ทุกคนในเมลครูทุกคน เพื่อให้ครูดูเทคนิคการเล่านิทานสำหรับนักเรียน
            กิจกรรมสุดท้ายครั้งนี้..
พวกเราพาน้องๆ ร่วมกิจกรรมการตั้งคำถามทำไม? แล้วตอบ.. เป็นคำถามทำไมของโรงเรียนนอกกะลาที่
พวกเราเคยทำกิจกรรมนี้มาก่อนตอนมาเป็นครูใหม่ ผ่านเครื่องมือคิดHot ball น้องหลายคนต่างตื่นเต้น สนุกสนาน มีบางคนอาจจะเคยอ่านมาแล้วในช่วงท้ายของหนังสือ วุฒิภาวะของความเป็นครู เขียนโดยครูใหญ่ แต่ละคนสามารถที่จะตอบพร้อมให้เหตุผลได้ดีจากสิ่งที่ตนเองได้ผ่านวิถีของโรงเรียนและจากสิ่งที่ทำ สุดท้ายครูสังข์และพี่กลุ่ม 2 ได้ให้เอกสารคำถามทำไมและ ทบทวนจิตศึกษาของคุณครูใหญ่ ให้กับน้องๆ ได้กลับไปทบทวนทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

หลังจากกิจกรรมจบลงเลย 4 โมงเย็น เรารู้สึกอิ่มเอมยินดี หายเมื่อยหายเหนื่อยเมื่อเห็นน้องๆ ได้เรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมที่เราเตรียมมาให้เป็นอย่างดี และพวกเราประชุมสรุปกันต่อ AAR (ครูแดงสรุปไว้ดังนี้ครับ)
กิจกรรมพี่พบน้องครั้งต่อไป ในวันพฤหัสบดี ที่ 18 ธันวาคม 2557  (พี่กลุ่ม 1  คือ ครูเจษ ครูกลอย ครูป้อม) กิจกรรมจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
- ทบทวนเกี่ยวกับวิถี และคำถามทำไม
- การสังเกตการณ์สอนของครูใหม่ (น้องกลุ่ม 1)
-  กิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครื่องมือคิดแผนภาพของเวนน์ออยเลอร์ (Venn-Euler Diagram) (จิตศึกษา PBL รายวิชา) ที่น้องๆ ได้ทำไว้แล้ว พูดคุยอีกครั้ง

การเรียนรู้เพื่อการงอกงามภายใน เกิดจากการสร้างชุมชนเพื่อปฏิบัติ และ ปฏิเวท