วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พี่พบน้องครั้งที่สาม..ทำไม? จิตศึกษา

            บรรยากาศแวดล้อมในช่วงฤดูหนาวทั่วโรงเรียนนอกกะลาในวันหยุด เสียงนกร้องเจื้อยแจ้วเคล้ากับเสียงอันผ่อนคลายในยามโพล้เพล้ ได้เวลาตามนัดหมาย 13.00 น. คุณครูสังข์เริ่มต้นกิจกรรม Body scan ให้น้องๆ ได้พักผ่อนใจ-กาย หลังจากรับประทานอาหารเที่ยง ตอนแรกที่พูดคุยไว้เราจะเริ่มด้วยจิตศึกษาก่อน แต่คุณครูสังข์ขอทำกิจกรรเพื่อน้องสั้นๆ เปิดเพลงเสียงน้ำไหล มีเสียงลมหวีดหวิวดังขึ้นเป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำเนื่องๆ ทุกคนได้ผ่อนคลายร่างกายอย่างมีสติ ก่อนที่ครูสังข์จะเล่าเรื่อง แม่น้ำกับก้อนเมฆ ไว้ดังนี้ครับ
       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแม่น้ำอันแสนงดงามไหลล่องผ่านป่าเขาและทุ่งหญ้า เธอกำเนิดมาจากสายน้ำเล็กๆที่แสนเบิกบาน ยามที่เธอไหลลงจากยอดเขา สายน้ำนั้นเต้นรำและร้องเพลงไปกับเธอ เมื่อไหลลงมาสู่พื้นราบ การเดินทางของเธอก็ค่อยๆ ช้าลง และเริ่มคิดคำนึงถึงมหาสมุทรอันแสนกว้างใหญ่ เมื่อกาลเวลาผ่านไป เธอเติบโตขึ้นเป็นแม่น้ำที่สวยงาม ไหลลัดเลาะไปตามภูเขาและทุ่งหญ้าอย่างสง่างาม
       วันหนึ่งแม่น้ำสังเกตเห็นเงาสะท้อนของก้อนเมฆในตัวเธอ ก้อนเมฆเหล่านั้นมีรูปทรงและสีสันอันหลากหลาย เธอไล่ตามก้อนเมฆเหล่านั้นไป หวังจะได้ครอบครองก้อนเมฆสักก้อนหนึ่ง หากแต่ความเป็นจริงก้อนเมฆนั้นลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้าอันแสนไกล และเปลี่ยนรูปร่างไปมาอยู่ตลอดเวลา บางทีก็เป็นรูปเสื้อโค้ต บางทีก็เป็นรูปม้า และด้วยความเปลี่ยนแปลงนั้นเองที่ทำให้แม่น้ำเป็นทุกข์อย่างยิ่ง กลับกลายเป็นว่าความสุขความเบิกบานของเธอคือ การวิ่งไล่ตามก้อนเมฆก้อนแล้วก้อนเล่า ในขณะเดียวกันนั้นความสิ้นหวัง ความโกรธและความเกลียดชังก็ค่อยๆ กลายเป็นชีวิตของเธอ
แล้ววันหนึ่งเกิดมีลมแรงพัดพาเอาก้อนเมฆทั้งหมดหายไปจากฟากฟ้า ท้องฟ้าพลันว่างเปล่า เมื่อไม่มีก้อนเมฆให้แม่น้ำวิ่งไล่ตาม ชีวิตก็ช่างดูไร้ค่าเกินกว่าที่จะเธออยู่ต่อไป เธออยากตายและรำพึงกับตัวเองว่า "ฉันจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ในเมื่อไม่มีก้อนเมฆเหล่านั้น" จึงเกิดคำถามกับตนเองว่าแม่น้ำจะคร่าชีวิตตัวเองได้อย่างไร
       ในคืนนั้นแม่น้ำได้มีโอกาสกลับมาใคร่ครวญอยู่กับตัวเองเป็นครั้งแรก เธอพบว่าที่ผ่านมาเธอมัวแต่วิ่งไล่ตามสิ่งที่อยู่ภายนอก โดยที่เธอไม่เคยย้อนกลับมามองดูตัวเองเลย และคืนนี้เป็นครั้งแรกที่เธอได้ยินเสียงร้องไห้ของตัวเอง เสียงน้ำที่กระทบกับสายน้ำใหญ่ เธอได้ค้นพบบางสิ่งที่สำคัญเมื่อเธอสามารถฟังเสียงภายในตัวเอง เธอพบว่าสิ่งที่เธอเฝ้าตามหามาตลอดนั้นอยู่ในตัวเธอเอง ก้อนเมฆและน้ำนั้นเป็นดั่งกันและกัน ก้อนเมฆกำเนิดมาจากน้ำ และสุดท้ายก้อนเมฆก็กลายเป็นน้ำ ตัวเธอเองก็คือน้ำเช่นกัน
       เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อพระอาทิตย์ส่องฉายไปทั่วท้องฟ้า แม่น้ำได้พบบางสิ่งที่สวยงามเป็นครั้งแรก ซึ่งเธอไม่เคยสังเกตเห็นท้องฟ้าสีครามมาก่อน ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอมัวแต่สนใจก้อนเมฆ โดยไม่เคยมองท้องฟ้าที่เป็นบ้านของก้อนเมฆเลย ก้อนเมฆนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ท้องฟ้านี่สิมั่นคง เธอตระหนักได้ว่าท้องฟ้าอันกว้างใหญ่นั้นอยู่ในใจเธอมาตั้งแต่แรกเริ่ม ปัญญาหรือความรู้แจ้งอันยิ่งใหญ่นี้นำความสุขสงบมาสู่แม่น้ำ เมื่อใดก็ตามที่เธอมองท้องฟ้าอันกว้างใหญ่งดงาม เธอจะรู้ว่าความสงบศานติและความมั่นคงนั้นอยู่กับเธอเสมอและในบ่ายวันนั้นก้อนเมฆก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แม่น้ำไม่ได้อยากครอบครองก้อนเมฆอีกแล้ว เธอกลับมองเห็นเพียงความสวยงามของก้อนเมฆแต่ละก้อน และยินดีกับการมีอยู่ของก้อนเมฆ เมื่อก้อนเมฆมาเยี่ยมเยือนท้องฟ้า เธอต้อนรับด้วยความรักความเมตตา และเมื่อก้อนเมฆจากไป เธอก็โบกมือลาด้วยความสุขและความรักความเมตตาเช่นเดียวกัน เพราะแม่น้ำรู้ว่าก้อนเมฆเหล่านั้นก็คือเธอ เธอไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างตัวเธอกับก้อนเมฆ ความสงบและความกลมกลืนกันนั้นมีอยู่ระหว่างเธอและก้อนเมฆ
       เย็นวันนั้น เมื่อแม่น้ำเปิดใจกว้างอย่างเต็มเปี่ยมให้กับท้องฟ้ายามเย็น สิ่งสวยงามก็เกิดขึ้น เธอได้พบภาพสะท้อนของพระจันทร์เต็มดวงที่สวยงาม กลมโตดั่งเพชรที่อาบฉายลงในตัวเธอ เธอไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเธอจะสามารถสะท้อนภาพที่งดงามเช่นนั้นได้ ดังเช่นบทกวีของจีนที่กล่าวไว้ว่า "ดวงจันทร์ที่แสนสวยงามสดชื่น เดินทางท่องเที่ยวไปในท้องฟ้ากว้างไกล เมื่อจิตใจอันกว้างใหญ่ดั่งแม่น้ำของสรรพสิ่งเป็นอิสระ เมื่อนั้นภาพสะท้อนของดวงจันทร์อันสวยงามจะฉาดฉายในตัวเรา" จิตใจของแม่น้ำในขณะนั้นเป็นเช่นนี้เอง เธอได้สะท้อนภาพของพระจันทร์ที่สวยงามในใจเธอ ในขณะนั้นเสมือนว่า แม่น้ำ ก้อนเมฆ และพระจันทร์ต่างส่งกำลังใจ ความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีต่อกัน กำลังจับมือกันเดินทางอย่างช้าๆ ไปสู่มหาสมุทรอย่างมีความสุข



            เรื่องเล่าจบลง.. ก่อนลุกขึ้นนั่งครูสังข์ให้ทุกคนฟังเสียงลมหายใจของตัวเอง กลับมาอยู่กับตัวเราเอง ให้ทุกคนนับถอยหลังจาก 1 ถึง 5 บอกตัวเองว่าเราจะเป็นคนที่ยอดเยี่ยม เราจะเป็นคนที่มีความสุข...จากนั้นครูสังข์เชิญทุกคนลุกขึ้นนั่งด้วยความผ่อยคลาย เวลา 13.25 น.
            พวกเราพาน้องยืดเส้นยืดสาย เพราะเห็นว่าหลายคนยังรู้สึกงัวเงียโงนเงนกันอยู่ เพื่อให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายของทุกคนได้ผ่อนคลายจากอาการงัวเงียอ่อนล้า
            ครูเส็งต่อด้วยกิจกรรมจิตศึกษา เริ่มจากให้ทุกคนหลับตานั่งตัวตรงมีสมาธิผ่อนคลายอวัยวะทุกส่วนกำหนดลมหายใจเข้า-ออกเป็นจังหวะสอดรับกับคำพูดที่ตื่นเต้นพูดตะกุกตะกักอยู่บ้างในช่วงแรก และครูเส็งต่อด้วยกิจกรรม Brain Gym สั้นๆ ก่อนที่ครูเส็งจะแจกช่องภาพ/บัตรคำให้แต่ละคนวางไว้ข้างหน้านั้น ชื่นชมคนที่ยอดเยี่ยม / คนที่ไหว้เพื่อนด้วยความนอบน้อมในขณะที่รับสิ่งของจากเพื่อนๆ รอบวง เป็นคำพูดEmpower ของผู้ที่ค่อย
อำนวยกิจกรรมจะพูดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกคนได้รื่นรมย์ในบรรยายกาศในวงจิตศึกษา พอแจกช่องภาพ/บัตรคำวางไว้ตรงหน้าครบทุกคนแล้ว ครูเส็งก็เชิญทุกคนให้เปิดช่องจดหมายดูภาพ/บัตรคำ แล้วให้โจทย์กับทุกคนว่า “เราคิดว่าภาพหรือบัตรคำที่เห็นนั้น มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวเราอย่างไร?” แล้วให้แต่ละคนได้บอกเล่าถึงภาพดังกล่าวให้ทุกคนในวงรับรู้ ภาพหรือบัตรคำที่เตรียมมานั้น เช่น ภาพหมอน ภาพโทรศัพท์ ภาพพระอาทิตย์กำลังตกติดท้องฟ้าเหลืองอร่าม – บัตรคำ แม่, โรงเรียน, เป็นต้น ..พอทุกคนบอกความหมายภาพ/บัตรคำครบครูเส็งให้ทุกคนในวงเล่าเรื่องเชื่อมแต่ละภาพ/บัตรคำเป็นเรื่องราว(แต่งนิทาน)เดียวกัน เริ่มจากผมได้ภาพ โทรศัพท์บ้าน...เล่ารอบวงไปจนถึง...ครูเส็งที่ได้บัตรคำคำว่า แม่
            พวกเราถอดความเข้าใจจากน้องๆ ว่าจากทั้ง 2 กิจกรรมที่ครูสังข์กับครูเส็งทำ “น้องๆ จะนำกิจกรรมไปปรับใช้กับเราอย่างไร? อะไรบ้างเป็นสิ่งใหม่ที่เราได้เรียนรู้จากทั้ง 2 กิจกรรมนี้?” น้องทุกคนได้บอกถึงสิ่งจะนำไปปรับใช้ในชั้นเรียน เช่น การใช้น้ำเสียงโทนเสียงที่น่าฟังไฟเราะในการเล่าเรื่อง การขอบคุณ บรรยากาศในการทำกิจกรรม การวางแผนล้วงหน้า ฯลฯ   
            ทุกคนร่วมกันสะท้อนกิจกรรมสังเกตการณ์การสอนของน้องๆ ครูใหม่ ได้แก่ ครูดอกไม้  (กิจกรรมจิตศึกษา ป.5) ครูหนัน (ภาษาไทย ป.3 /เขียนตามคำบอก) ครูเหมี่ยว (ภาษาไทย ป.2/ คำ รร เช่น บรรจง บันทึก)และครูแต (ภาษาอังกฤษ ป.4) ส่วนน้องคนที่เหลือจะพูดคุยสะท้อนกันในการประชุมคราวหน้า พวกเราครูกลุ่ม 2 คนที่ไปสังเกตน้องก็ได้พูดคุยสะท้อนถึงน้อง สิ่งที่น้องทำได้ดีแล้ว เป็นการพูดเสริมแรงด้านบวกให้น้องๆ ที่มีความตั้งใจความพยายามเตรียมกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เรียนรู้วันนั้น แววตาของผู้พูดเปล่งประกายด้วยความปีติซึ่งสามารถบ่งบอกถึงไมตรีจิตที่พี่ส่งถึงน้อง สิ่งที่ควรนำไปพัฒนา คนที่ไปสังเกตสะท้อนในสิ่งที่แต่ละคนเห็นว่าสิ่งที่ควรจะนำไปพัฒนาเพิ่มในกิจกรรมหรือสิ่งที่พี่เห็นว่าน้องน่าจะนำไปปรับเล็กๆน้อยๆ ในแต่ละช่วงของกิจกรรม โดยภาพรวมพวกเราชื่นชมความพยายามของน้องครูใหม่ที่พวกเราได้ไปร่วมสังเกตการสอนมาครับ
            กิจกรรมต่อมา..พวกเราให้น้องทุกคนได้เขียนออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครื่องมือคิดแผนภาพของเวนน์ออยเลอร์ (Venn-Euler Diagram) เพื่อให้น้องเขียนถึงหน้างานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ สะท้อนความเข้าใจของครูใหม่แต่ละคน
            พวกเราแจกกระดาษA4 ให้น้อง จากนั้นให้ทุกคนวาดวงกลม 3 วง แต่ละวงเชื่อมกันดังตัวอย่างที่เตรียมไว้ให้น้องดู (คล้ายสัญลักษณ์ช่อง 7 สี) พื้นที่แต่ละวงจะมีจุดเชื่อมกันอยู่กับอีกกิจกรรมที่อยู่ติดกัน แล้ว 3 วงก็จะมีจุดเชื่อมกันตรงกลาง ในส่วนพื้นที่วางของแต่ละวงจะให้น้อ
งเขียน จิตศึกษา PBL และวิชาสอน (ไทย คณิต อังกฤษ) 
หมายถึง ความเชื่อมโยงของทุกๆกิจกรรม น้องๆ เขียนถึงกิจกรรม (เดิมหรือคิดขึ้นใหม่) และการเตรียมความพร้อมก่อนกิจกรรม กิจกรรมมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร? วางแผนการทำกิจกรรมอย่างไร? ..แล้วน้องแต่ละคนนำเสนอชิ้นงาน(Show and Share) กิจกรรมที่ตนเองสร้างขึ้นมา

ถ่ายทอดให้ทุกคนในวงรับฟังร่วมกัน หลายคนยกตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่เป็นแบบPBL (การทดลอง แสดงละคร การตั้งคำถาม) จิตศึกษาที่สร้างสรรค์ นวัตกรรมการสอนแต่ละวิชา ฯลฯ น้องทุกคนมีความปรารถนาดีที่จะถ่ายทอดสิ่งที่คิดไว้ต่อผู้ร่วมวงทุกคน 15.20 น.
            ครูแดงต่อด้วยการเล่านิทาน 1 เรื่อง กูจี กูจี หลังจากเล่านิทานจบลงครูแดงได้พูดคุยแนะนำเทคนิคการ
เล่า การใช้คำถามเชื่อมโยงจากนิทาน เช่น เห็นอะไร? รู้สึกอย่างไร? มีใครบ้าง? ทำอะไร? ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ถ้าเป็นนักเรียนจะทำอย่างไร? ฯลฯ การเล่านิทานสามารถเล่าได้หลากหลาย เช่น จากหนังสือนิทาน / เล่าไปวาดไป/ เล่าไปพับไป/ เล่าไปตัดไป /เล่าไปฉีกไป ฯลฯ ครูต๊อกมีตัวอย่างการเล่านิทานของ อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์ ที่ถ่ายทำไว้แชร์ไว้ในไฟล์ครูจะส่งให้กับน้องๆ ทุกคนในเมลครูทุกคน เพื่อให้ครูดูเทคนิคการเล่านิทานสำหรับนักเรียน
            กิจกรรมสุดท้ายครั้งนี้..
พวกเราพาน้องๆ ร่วมกิจกรรมการตั้งคำถามทำไม? แล้วตอบ.. เป็นคำถามทำไมของโรงเรียนนอกกะลาที่
พวกเราเคยทำกิจกรรมนี้มาก่อนตอนมาเป็นครูใหม่ ผ่านเครื่องมือคิดHot ball น้องหลายคนต่างตื่นเต้น สนุกสนาน มีบางคนอาจจะเคยอ่านมาแล้วในช่วงท้ายของหนังสือ วุฒิภาวะของความเป็นครู เขียนโดยครูใหญ่ แต่ละคนสามารถที่จะตอบพร้อมให้เหตุผลได้ดีจากสิ่งที่ตนเองได้ผ่านวิถีของโรงเรียนและจากสิ่งที่ทำ สุดท้ายครูสังข์และพี่กลุ่ม 2 ได้ให้เอกสารคำถามทำไมและ ทบทวนจิตศึกษาของคุณครูใหญ่ ให้กับน้องๆ ได้กลับไปทบทวนทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

หลังจากกิจกรรมจบลงเลย 4 โมงเย็น เรารู้สึกอิ่มเอมยินดี หายเมื่อยหายเหนื่อยเมื่อเห็นน้องๆ ได้เรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมที่เราเตรียมมาให้เป็นอย่างดี และพวกเราประชุมสรุปกันต่อ AAR (ครูแดงสรุปไว้ดังนี้ครับ)
กิจกรรมพี่พบน้องครั้งต่อไป ในวันพฤหัสบดี ที่ 18 ธันวาคม 2557  (พี่กลุ่ม 1  คือ ครูเจษ ครูกลอย ครูป้อม) กิจกรรมจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
- ทบทวนเกี่ยวกับวิถี และคำถามทำไม
- การสังเกตการณ์สอนของครูใหม่ (น้องกลุ่ม 1)
-  กิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครื่องมือคิดแผนภาพของเวนน์ออยเลอร์ (Venn-Euler Diagram) (จิตศึกษา PBL รายวิชา) ที่น้องๆ ได้ทำไว้แล้ว พูดคุยอีกครั้ง

การเรียนรู้เพื่อการงอกงามภายใน เกิดจากการสร้างชุมชนเพื่อปฏิบัติ และ ปฏิเวท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น