วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พี่พบน้องครั้งที่สี่..ทบทวน 'จิตศึกษา' กับ ทำไม?

           พวกเราเป็นกลุ่มแรกที่พบน้อง คือ ครูเจษ ครูกลอย ครูป้อม เราเตรียมประชุมกันก่อนพบน้องเกือบสัปดาห์(AAR) ร่วมกันวางแผนกับคุณครูกลุ่ม 2 ทุกคน ว่าเรากลุ่มย่อยนี้จะจัดกิจกรรมอะไรกับน้องบ้าง กิจกรรมที่พูดคุยกันไว้ก่อนหน้านี้ ก็คือ..
-          ชวนน้องทบทวนกิจกรรมจิตศึกษา
-          คุยเกี่ยวกับคำถาม ทำไม? (ทำไมของโรงเรียน , ทำไม ให้น้องตั้งทำไมเอง 5 ข้อ ที่ยังไม่มีในทำไมของโรงเรียน)
            กลุ่มพวกเรานัดพบน้องในวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2557 ณ ห้องประชุมเล็ก
ทุกคนมาพร้อมเพรียงก่อนเวลานัดหมายกว่า 5 นาที วันนี้จากที่ผมสังเกตดูท่าทีของน้องหลายคนดูกระปี้กระเปร่าอยากมาเข้าร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ เห็นน้องๆ ตั้งใจอยากเข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยความยินดี มันทำให้ผมรู้สึกอิ่มเอมสุขใจอย่างบอกไม่ถูก กระแสความคิดซื่อๆ ไร้เพทุบายดังกล่าวสะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง จนต้องเกร็งเบ้าตากักกั้นหยาดน้ำ แล้วเตรียมทำกิจกรรมอันมีคุณค่ากับน้องวันนี้ เพื่อให้กิจกกรมออกมาดีที่สุด ด้วยบรรยากาศที่ทุกคนรื่นรมย์
            เมื่อได้เวลาตามนัดหมาย 16.30 น. ทุกคนนั่งวงกลมใหญ่ยิ้มไหว้ทักทายกัน ครูกลอยกับครูป้อมเริ่มด้วยกิจกรรมจิตศึกษากับน้องก่อน ส่วนคุณครูเจษติดภารกิจไปส่งครูใหญ่ที่สนามบินอำเภอสตึก ครูกลอยเตรียมอุปกรณ์ทำกิจกรรมจิตศึกษามาด้วยคือเม็ดกระดุม 1 กล่อง แล้วครูกลอยมอบหมายให้ครูอุ๋มเป็นดำเนินกิจกรรมจิตศึกษาจากอุปกรณ์ที่มีอยู่นี้
            ครูอุ๋มพาทุกคนทำกิจกรรม เม็ดกระดุม เชื่อมโยงกับตัวเราอย่างไร?
เริ่มกิจกรรมด้วยการหยิบเม็ดกระดุมจากกล้องออกหลากหลายสีดูสะดุดตา ครูอุ๋มถามทุกคนในวงว่า “ทุกคนเห็นอะไรจากที่ครูอุ๋มถืออยู่ตอนนี้ค่ะ?” ครูอุ๋มมองดูคนที่ยกมือก่อน แล้วเชิญทีละคนแสดงความคิดเห็น กิจกรรมจิตศึกษาจากเม็ดกระดุมหลากสี ครูอุ๋มส่งกล่องกระดุมให้ครูทุกคนหยิบเม็ดกระดุมวางตรงหน้าจนครบ ครูอุ๋มให้จึงโจทย์ทุกคนว่า ให้ทุกคนแปลงร่างเม็ดกระดุมตรงหน้าให้เป็นภาพขึ้นมา แล้วบอกครูอุ๋มด้วยว่าภาพนั้นเกี่ยวกับตัวเราอย่างไรบ้าง?” ทุกคนในวงได้เล่าภาพที่สร้างจากเม็ดกระดุมจากคนแรกจนถึงคนสุดท้าย ครูอุ๋มจะค่อยฟังด้วยความตั้งใจ ขอบคุณคนที่เล่าเสร็จทีละคน แล้วเชิญคนต่อไปเล่าจนครบ
พอกิจกรรมจิตศึกษาเสร็จ ครูกลอยให้ทุกคนได้แชร์เกี่ยวกับกิจกรรมเม็ดกระดุม “ถ้าเราจะนำอุปกรณ์นี้ไปใช้สอนเด็กๆ เราจะนำไปเป็นสื่อการสอนอย่างไรบ้าง?” แต่ละคนได้เสนอความคิดเห็นว่าจะนำสื่อนี้ไปใช้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิเช่น จิตศึกษา(นิทาน , งานศิลปะ), ภาษาไทย, อังกฤษ, คณิต(การนับ, แบบรูป) รวมทั้งยังได้ชวนทุกคนตั้งคำถามจากเม็ดกระดุม
จากนั้นพวกเราพาน้องครูใหม่ทบทวนการบ้าน 2 กิจกรรม คือ “จิตศึกษา” และ “ทำไม?” (ทำไมของโรงเรียน , ทำไม ให้น้องตั้งทำไมเอง 5 ข้อ ที่ยังไม่มีในทำไมของโรงเรียน)
ให้น้องๆ แต่ละคนแชร์เป้าหมายของกิจกรรมจิตศึกษา ที่น้องๆ ตอบมาโดยภาพรวม
-          เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียน
-          เพื่อให้นักเรียนเข้าใจสรรพสิ่ง
-          เพื่อพัฒนาความฉลาดทางด้านอารมณ์EQ ด้านจิตวิญญาณSQ
จากนั้น..น้องๆ แชร์ถึงกิจกรรมที่ทำจิตศึกษามาแล้วเกิดผลอย่างไร ครูนิ่ม ป.4 เล่าถึงพี่บูมว่ากิจกรรมจิตศึกษาทำให้พี่บูมเข้าชั้นเรียน กล้าพูดกับครูมากขึ้น และทำให้เขาผ่อนคลายเตรียมพร้อมที่จะเรียนมากขึ้น ครูอุ๋ม ป.1 แชร์กิจกรรมจิตศึกษาทำให้พี่เฆษเปลี่ยนแปลงทางด้านการรับรู้อารมณ์ และการเตรียมความพร้อมในการเรียนในทุกๆ วัน ทำให้เขาเข้าห้องเรียนอย่างมีความสุขตลอดมาทุกๆ วัน
ครูกลอยชวนน้องๆ คุยเรื่องสิ่งที่ควรลดและควรสร้าง ตามแนวทางของโรงเรียนฯ ในการจัดการเรียนรู้ทุกกิจกรรม โดยภาพรวมน้องๆ แชร์ความเข้าใจและพี่ๆ ช่วยเพิ่มเติมกันทั้ง 2 ประเด็น ดังนี้
สิ่งที่ครูควรลด (การเปรียบเทียบ, คำพูดด้านลบหยุด อย่า ห้าม, สร้างความกลัว ,ใช้ความรุนแรง ,ยัดเยียดความรู้)
สิ่งที่ครูควรสร้าง (ให้ความรักกับเด็กๆ,  บรรยากาศการเรียนรู้, คำพูดด้านบวก)
พวกเราให้น้องเล่าถ่ายทอดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนทัศน์จิตศึกษา(จิตวิทยาเชิงบวก วิถี/ชุมชม กิจกรรมจิตศึกษา)ที่แต่ละคนเข้าใจ หลังจากที่น้องๆได้อ่านเอกสารที่ให้เป็นการบ้านคร่าวก่อน น้องทุกคนได้ถ่ายทอดความเข้าใจของตนเอง และทุกคนมีส่วนร่วม เพิ่มเติมความเข้าใจร่วมกัน และชวนน้องๆ คุยเกี่ยวกับปัญญาภายในและปัญญาภายนอก ครูกลอยสอบถามน้องๆ เกี่ยวกับวิถี/ชุมชม แล้วให้แต่ละคนแชร์ความเข้าใจของตนเองสู่ผู้อื่น ก่อนที่ทุกคนช่วยกันมาขมวดความเข้าใจ(ครูกลอย ครูเจษ ครูป้อม ครูน้ำผึ้ง และครูสังข์)  เรายกตัวอย่างผ่านรูปแบบตารางเรียนที่แบ่งออกเป็นช่วงของ : ปัญญาภายใน (EQ, SQ), ปัญญาภายนอก (PQ, IQ)
ปัญญาภายนอก VS ปัญญาภายใน
            ครูวิเชียรมองว่า กะลาใบใหญ่ที่ครอบระบบการศึกษาไทยอยู่คือการยึดติดใน ความรู้ ซึ่งเป็นแค่เพียงส่วนเปลือกของการศึกษา แท้ที่จริงแล้วคุณค่าของการศึกษาอยู่ที่การก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางปัญญา อันประกอบด้วยปัญญาภายนอก ซึ่งหมายถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่อยู่รอบตัว และอีกส่วนหนึ่งคือปัญญาภายใน ซึ่งหมายถึงความเข้าใจตนเองและธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นเป้าหมายที่ชัดเจนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คำนึงถึงการก่อเกิดปัญญาทั้งสองส่วน
นับตั้งแต่การเปิดสอนปีแรก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ทดลองใช้เครื่องมือสำหรับบ่มเพาะปัญญาภายนอกหลายหลายวิถีทาง เช่น การบูรณาการโดยใช้ Story Line ซึ่งช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุกสานเพลิดเพลิน แต่กลับไม่ได้นำพาไปสู่แก่นแท้ของความรู้ได้จริง ต่อมาก็บูรณาการโดยProject Based Learning ซึ่งเอื้อให้เด็กได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง แต่ยังไม่ได้ให้อิสระเด็กเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนรู้ จนในที่สุดก็พบว่าแนวทางการสอนที่เหมาะสมคือการบูรณาการโดย Problem-Based Learning ซึ่งเติมเต็มเรื่องการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน ไปพร้อมกับการลงมือปฏิบัติจนเกิดทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตจริงๆ
การนำปัญหามาเป็นสิ่งกระตุ้นในการเรียนรู้ เป็นการสร้างความเสียสมดุลในตัวเด็ก แล้วเด็กจะหาทางที่จะรักษาความสมดุลนั้น ด้วยกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เอาทักษะและความรู้มารวมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา พอเขาได้แก้ปัญหาบ่อยๆ ก็จะเพิ่มทักษะ เพิ่มความเข้าใจ ทำให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่แข็งแกร่ง
การเรียนรู้อย่างอิสระเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้เลือกในสิ่งที่ตนสนใจ และคิดว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตนเอง รวมทั้งได้การออกแบบการเรียนรู้ว่าตนอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไร โดยมีครูเป็นผู้มีบทบาทช่วยสนับสนุนให้เด็กได้แก้ปัญหาเหล่านั้น และวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนปัญญาภายในซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการพร่ำสอนของครู ครูวิเชียรได้นำกระบวนการ จิตศึกษา มาใช้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะ หลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ การเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมซึ่งเป็นจิตวิทยาเชิงบวก การจัดกิจกรรมตามแนวคิดนี้จะมุ่งเน้นให้เด็กมีความรักที่เผื่อแผ่ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งอื่น และมีสติรู้สึกตัวได้เร็ว สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญงอกงามภายใน จะต้องมีลักษณะเป็นองค์กรแบบเปิด ที่ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน เคารพกัน และมีความเป็นกัลยาณมิตร
ครูวิเชียรกล่าวถึงความสำคัญของปัญญาภายในว่า การจะอยู่บนโลกนี้ได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมข้างนอก แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ข้างใน หากเราสามารถสร้างปัญญาภายในให้เข้มแข็งพอ เด็กจะมีวุฒิภาวะและภูมิคุ้มกันชีวิต ไม่ว่าจะมีแรงกระแทกจากภายนอกแค่ไหนเขาก็จะผ่านมันไปได้
บางส่วนจาก..บทสัมภาษณ์ครูใหญ่วิเชียร ไชยบังลงในหนังสือ
รวมมิตรคิดเรื่องการเรียนรู้ประสบการณ์ภาคปฏิบัติของมวลมิตรยุคอนาล็อคและคนรุ่นดิจิทัล
โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้  Thailand Knowledge Park (TK park)

น้องๆ ทุกช่วงชั้นได้ทบทวนวิถี/สร้างชุมชนการเรียนรู้ ครูเจษให้ตัวแทนน้องแต่ละช่วงชั้นเล่าวิถีให้ทุกคนรอบวงรับฟังร่วมกัน วิถีมัธยม(ครูจุล), วิถีประถม(ครูหนัน, ครูอุ๋ม), วิถีอนุบาล(ครูแอมป์) ส่วนใหญ่น้องๆ เข้าใจวิถีภาพร่วม ครูป้อมเพิ่มเติมวิถีของพี่มัธยม ตอนเช้านักเรียนทุกระดับชั้นจะดูแลบริเวณสถานที่โดยรอบมัธยมเองเช้า-เย็น ในส่วนของเวลาเรียนแต่ละคาบจะน้อยกว่าน้องประถมคาบละ 10 นาที ช่วงเช้าเรียน 4 คาบ ต่างจากประถมเรียน 3 คาบ ตอนเที่ยงพี่มัธยมจะแบ่งเวรเพื่อจะไปรับอาหารที่โรงอาหารมาบริการกันเอง และจะมีพิธีชาทุกๆ สัปดาห์

กิจกรรมสุดท้าย..
น้องๆ ส่งการบ้านตั้งคำถาม ทำไม? เราให้น้องๆ แต่ละช่วงชั้นคุยกัน แล้วเลือกมาเพียงช่วงชั้นละ 1 คำถาม นำมาแชร์กัน ถามเสร็จให้น้องๆ ได้ลองตอบคำถาม แล้วพี่ๆ ช่วยขมวดคำตอบตอนท้ายให้ทุกข้อ
อนุบาล “ทำไมโรงเรียนนอกกะลาจึงเลือกที่จะมาตั้งอยู่ตรงนี้?”
            ครูดอกไม้ ครูบาส ครูจุล แชร์ความคิดเห็นว่า “อาจจะอยู่ในชนบท ไม่อยากตั้งใกล้ตัวเมือง ที่บุรีรัมย์ตอนนั้นยากจน และที อ.ลำปลายมาศ ขาดสารไอโอดีน บรรยากาศร่มรื่น”
            ครูน้ำผึ้ง ครูเจษ ครูป้อม ช่วยขมวด.. “เมื่อประมาณ 13 ปีก่อนนั้น คุณเจมส์มีแนวคิดอยากสร้างโรงเรียนตัวอย่างขึ้น และได้เลือกจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะตอนนั้นค่าเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือนน้อยสุดในภาคอีสาน และก็เลือกอำเภอลำปลายมาศ ตำบลโคกกลาง เพราะเป็นอำเภอที่ประชากรขาดสารไอโอดีน (ส่งผลเกี่ยวกับสมองขาดสารบางตัว ส่งผลต่อการเรียนรู้) และที่สำคัญคุณเจมส์ต้องการสร้างโรงเรียนฯ ตัวอย่างที่อยู่ชนบท ทุกคนมีสิทธิ์เรียน เพราะจับฉลากเข้าเรียนทุกคน ต้องการคละประชากร และค่าใช้จ่ายในการเรียนของนักเรียนก็น้อยกว่ารัฐบาล..”
ช่วงชั้น1 “ทำไมที่โรงเรียนจึงไม่มีห้องพยาบาล?”
ช่วงชั้น2 “ทำไมพี่ ม.3 ยืนตรงหลังน้อง ป.6 เข้าแถวตอนเช้า?”
มัธยม “ทำไมต้องติดชิ้นงานนักเรียนทั้งในห้องเรียน และบริเวณโดยทั่วของโรงเรียน?”
            ในส่วนคำถามของ ช.1-2 กับคำถามของมัธยม ทุกคนในวงก็ช่วยกันตอบ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พี่ๆ ก็ได้เรียนรู้น้องด้วยการตั้งคำถาม และเรียนรู้การตอบของแต่ละคน น้องๆ ก็ได้ความรู้เพิ่มจากที่พี่ๆ ช่วยกันขมวดคำตอบให้ชัดเจนมากขึ้น

            น้องทุกคนส่งสมุดบันทึกเล่มเล็กที่ทำการบ้านเขียนคำถาม ทำไม? มาคนละ 5 ข้อ
การสร้าง “ปัญญา” เป็นงานประณีตมากกว่าการสร้าง “ความรู้” ครูผู้มีวุฒิภาวะจะมองเห็นเป้าหมายนี้และเพียนพยายามส่งเด็กไปให้ถึง

ขอบคุณข้อมูลจากคุณครูเจษมากครับ.
เพิ่มเติม 'ปัญญา'....บางส่วนจากหนังสื่อ 'วุฒิภาวะของความเป็นครู'
               ความเข้าใจตัวเอง  ความเข้าใจต่อชีวิต  หรือ  ปัญญาภายใน  ที่เราทั้งหมดพยายามโหยหาทั้งเป็นเครื่องค้ำชูชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งขาดแคลนเหลือเกินในภาวะปัจจุบัน  ครูผู้มีวุฒิภาวะจะให้การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็กๆ  ตั้งแต่ต้นซึ่งอาจจะช่วยให้เด็กๆ  ได้พบคำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เร็วขึ้น  แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ  ในหลักสูตรแกนของแต่ละประเทศที่มี  8-9  วิชานั้นมุ่งสร้าง  แต่ปัญญาภายนอกหรือความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ  เท่านั้น 

         ปัญญาภายใน  หมายรวมถึง  ความฉลาดทางจิตวิญญาณ  (SQ)  และ  ความฉลาดทางอารมณ์  (EQ)  ซึ่งได้แก่ 
การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง  (รู้ตัว)  การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกต่อผู้อื่น
การเห็นคุณค่าในตัวเอง  คนอื่น  และสิ่งต่างๆ  เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย 
การอยู่ด้วยกันอย่างภราดรภาพ  ยอมรับในความแตกต่าง  เคารพและให้เกียรติกัน 
การมีวินัย  มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวมอยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย
การมีสติอยู่เสมอ  รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด  หรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่มีความสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ 
การมีสัมมาสมาธิ  เพื่อกำกับความเพียรให้การเรียนรู้หรือการทำภาระงานให้ลุล่วง  มีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ  นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่ 
การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล

              ปัญญาภายนอก  เป็นการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ  เพื่อให้เข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  ซึ่งประกอบด้วยความรู้มากมายหลายแขนงที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตหรือการประกอบ  อาชีพ  ซึ่งมักมองในมุมของความรู้ว่ามีมากน้อยเพียงใด  แต่การมองเฉพาะด้านความรู้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ  ความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้  ขยายขอบเขตได้  ความฉลาดทางด้านนี้ต้องไปไกลกว่าความรู้คือ  ไปถึงความเข้าใจ  เพราะเมื่อไปถึงความเข้าใจแล้วเราก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างที่  โยงใยกันอยู่  โดยที่เมื่อกระทำกับสิ่งหนึ่งก็สะเทือนถึงอีกสิ่งหนึ่ง  แล้วตอนนั้นเราจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ  เหล่านั้น  ในที่สุดก็จะเกิดความยินดีและความพอใจกับความเป็นไปซึ่งจะทำให้เป็นผู้ที่มี  ความสุขได้ง่าย 

                นอกจากความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์แล้ว  ปัญญาภายนอก  ยังรวมถึงการได้เครื่องมือทั้งที่เป็นทักษะชีวิตและทักษะสำหรับอนาคต  เช่น  ทักษะการเรียนรู้  ทักษะการคิดหลายๆ  ระดับ  ทักษะทาง  ICT  ทักษะการจัดการ  ทักษะการสื่อสาร  และ  ทักษะการเป็นผู้ผลิตปัจจัยในการดำรงชีวิต  เป็นต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น